การออกกำลังกาย
เพื่อเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ

น้ำตาล
คุณหรือโทษ
อยู่ที่ความเข้าใจ

Masthed image
Masthed image
Masthed image

รู้ไหมว่า ร่างกายและสมองของคนเราต้องใช้ความหวานในรูปแบบของน้ำตาลกลูโคสในการดำรงชีวิต...ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบอยู่ที่ “น้ำตาล” ความหวานที่เราคุ้นเคยกันดี!!

เพราะ “น้ำตาล” เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย โดยเฉพาะสมองซึ่งมีเซลล์ประสาทมากมาย เป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานจากน้ำตาลกลูโคสในร่างกายมากถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำตาลในร่างกายทั้งหมด จนกล่าวได้ว่าน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมอง1 ดังนั้น ชีวิตของเราจึงขาดน้ำตาลไม่ได้!!

น้ำตาล...แหล่งพลังงานที่ให้ประโยชน์มากกว่าแค่ความหวาน ถ้าทานให้เป็น

น้ำตาลทำให้อาหารมีรสชาติหวานอร่อย เมื่อรับประทานแล้วทำให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา จึงทำให้เรารู้สึกดีเมื่อได้รับประทานของหวาน2  และน้ำตาลยังเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยพลังงานที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของเรากว่า 70% ได้มาจากน้ำตาล3 นอกจากนี้ น้ำตาลยังช่วยเติมเต็มพลังงานให้กับกล้ามเนื้อและสมอง ทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงช่วยให้ร่างกายตื่นตัวกระปรี้กระเปร่า ในหนึ่งวันร่างกายจึงต้องการน้ำตาลจากอาหารต่างๆ ราว 100-400 กรัม3 โดยน้ำตาลที่เราบริโภคกันอยู่นี้สามารถแบ่งน้ำตาลออกได้เป็น 2 ชนิด ตามโครงสร้างทางเคมีคือ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว และ น้ำตาลโมเลกุลคู่

น้ำตาลทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างกันอย่างไร? และเราควรเลือกบริโภคชนิดไหนมากกว่า?  

1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) เป็นน้ำตาลที่มีโครงสร้างทางเคมีเรียบง่ายที่สุด มีรสหวาน ละลายน้ำได้ดี เมื่อบริโภคสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีที่เข้าสู่ร่างกาย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อย น้ำตาลประเภทนี้ ได้แก่ กลูโคส กาแลกโทส และฟรุกโทส

  • กลูโคส (Glucose) เป็นชนิดของน้ำตาลที่สำคัญซึ่งร่างกายใช้เป็นพลังงาน เป็นแหล่งพลังงานหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์สมอง4 ไม่ว่าเราจะบริโภคน้ำตาลในรูปแบบใด ส่วนใหญ่ร่างกายจะย่อยน้ำตาลเหล่านั้นเป็นกลูโคส5 จากนั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านตับและส่งต่อไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย กลูโคสมักพบในส่วนต่างๆ ของพืชที่มีรสหวาน
  • กาแลกโทส (Galactose) เป็นน้ำตาลที่ไม่สามารถพบได้เองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากกระบวนการย่อยแลกโตส (Lactose) ในน้ำนม
  • ฟรุกโทส (Fructose) เป็นน้ำตาลธรรมชาติที่มีรสชาติหวานที่สุด พบได้ในผลไม้ที่มีรสหวานและ น้ำผึ้ง เป็นชนิดของน้ำตาลที่ถูกนำมาเติมในเครื่องดื่ม เมื่อบริโภคเข้าไปจะถูกนำไปเก็บไว้ที่ตับ โดยไม่ได้สร้างพลังงานให้กับกล้ามเนื้อและสมอง และหากสะสมในปริมาณมากก็จะกลายเป็นไขมันพอกที่ตับ และยังมีผลต่อการระงับการหลั่งของอินซูลิน ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ

2. น้ำตาลโมเลกุลคู่ (disaccharide) เป็นการรวมตัวกันระหว่างน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 โมเลกุล ได้แก่

  • ซูโครส (Sucrose) เกิดจากการรวมกันของกลูโคสกับฟรุกโทส พบในพืชทั่วไปที่มีรสหวาน รวมถึงแหล่งความหวานที่เรานำมาผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อการบริโภค เช่น อ้อย และหัวบีต คนทั่วไปมักรู้จักน้ำตาลชนิดนี้ในชื่อของน้ำตาลทรายนั่นเอง
  • แลกโทส (Lactose) เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่พบได้เฉพาะในน้ำนมสัตว์ สามารถย่อยได้เป็นกลูโคสและกาแลกโทส
  • มอลโทส (Maltose) เมื่อถูกย่อยแล้วจะได้เป็นกลูโคส 2 โมเลกุล เราจะพบน้ำตาลชนิดนี้ได้ในเมล็ดข้าวที่กำลังงอก หรือจากการย่อยแป้ง

สิ่งสำคัญในการเลือกรับประทานน้ำตาลคือต้องคำนึงถึงปริมาณและชนิดที่เหมาะสม ไม่ให้มากเกินไป ซึ่งกรมอนามัยได้ให้คำแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม6 เพราะไม่ว่าจะบริโภคน้ำตาลชนิดใดก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้  ก่อนเลือกผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เราจึงควรดูรายละเอียดปริมาณน้ำตาลบนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่บริโภคน้ำตาลเกินกว่าความจำเป็นของร่างกาย 

ความเหมือนในความต่างระหว่างน้ำเชื่อมข้าวโพดและน้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตสสูง

นอกจากน้ำตาลที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติและน้ำตาลทรายแล้ว ปัจจุบันยังมีน้ำตาลหลายรูปแบบให้เราเลือกได้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ น้ำเชื่อมข้าวโพด (Corn Syrup Solid) และ น้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตสสูง (High-Fructose Corn Syrup: HFCS) ซึ่งแม้จะมีชื่อใกล้เคียงกัน แต่มีคุณสมบัติต่างกันโดยสิ้นเชิง

น้ำเชื่อมข้าวโพด เป็นสารให้ความหวานที่ผ่านการย่อยสลายมาจากแป้งข้าวโพด ซึ่งจัดอยู่ในหมวดคาร์โบไฮเดรต มีองค์ประกอบหลักคือกลูโคส7 ทำให้เป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้

ส่วนน้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตสสูง (HFCS) ประกอบด้วยกลูโคสและฟรุกโตส ที่มีองค์ประกอบคล้ายกับน้ำตาลทราย
มีรสหวานกว่าน้ำเชื่อมข้าวโพดปกติ มักพบในอาหารแปรรูป ซึ่งเราอาจไม่ทันสังเกตว่าเป็นส่วนผสมอยู่ในอาหาร
ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำสลัด แครกเกอร์ ขนมปังต่างๆ ทำให้เราได้รับแคลอรี่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว เมื่อบริโภคน้ำเชื่อมชนิดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคอ้วน มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลิน และอาจทำให้ระบบเผาผลาญผิดปกติได้4 เราจึงควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนบริโภคทุกครั้ง เพื่อระมัดระวังไม่ให้ร่างกายรับปริมาณน้ำตาลมากเกินความต้องการ

เลือก “กินหวาน” อย่างไร?...ให้เสริมสร้างร่างกาย8

หลักการบริโภคน้ำตาลเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานแต่ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ คือ ลดปริมาณน้ำตาลส่วนเกิน (added sugar) เพราะในอาหารตามธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ นม ธัญพืช ล้วนมีความหวานจากธรรมชาติอยู่แล้ว และเป็นความหวานที่พอเพียงโดยไม่ต้องปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำตาลทราย หรือน้ำเชื่อมใดๆ การรับประทานอาหารไม่ผ่านการแปรรูปยังทำให้ร่างกายได้รับใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ โปรตีน และแคลเซียม ที่อยู่ในวัตถุดิบเหล่านั้น โดยจะถูกย่อยอย่างช้าๆ ทำให้เซลล์ในร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่คงที่

เพื่อโภชนาการที่ดี เราจึงควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนรับประทาน เพื่อป้องกันการบริโภคน้ำตาลในปริมาณ
ที่มากเกินไป และแนะนำให้ทานอาหารหลากหลายชนิดให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกาย
อย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะพักฟื้น รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ที่ยังต้องการพลังงานในปริมาเหมาะสม แต่อาจได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เนื่องด้วยสภาวะของโรคและข้อจำกัดทางร่างกาย ก็สามารถเลือกเสริมด้วยอาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนที่มีส่วนประกอบของน้ำเชื่อมข้าวโพด โดยให้พลังงานและสารอาหารที่หลากหลายครบถ้วน และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย9

References:

1. Scott Edwards, Sugar and the Brain, https://hms.harvard.edu/news-events/publications-archive/brain/sugar-brain

2. ภูษิต เรืองอุดมกิจ, ทำไมคนถึงชอบกินของหวาน จากสัญชาติญาณการเอาตัวรอดสู่ความกระหายในรสชาติที่ไม่สิ้นสุด, https://www.beartai.com/hackforhealth/good-health/1212865

3. หมอชาวบ้าน, น้ำตาล-พลังในร่างกาย, https://www.doctor.or.th/article/detail/6151

4. สุนทร ตรีนันทวัน, ฟรุกโตส ภัยร้ายทำลายสุขภาพ, https://www.scimath.org/article/item/4811-2016-07-13-02-56-53

5. WebMD Editorial Contributors, What to Know About Different Types of and Names for Sugar, https://www.webmd.com/diet/what-to-know-about-different-types-names-sugar

6. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สุขภาพดี เริ่มที่อาหาร ลดหวาน มัน เค็ม เติมเต็มผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น, https://hpc2service.anamai.moph.go.th/emedia/files/p//99_20150625145236.pdf

7. Enfamil, Myth vs Fact: Corn Syrup in Baby Formula, https://www.enfamil.com/articles/myth-vs-fact-corn-syrup-baby-formula/

8. Harvard Health Publishing, The Sweet Danger of Sugar, https://www.health.harvard.edu/heart-health/the-sweet-danger-of-sugar

9. ไทยรัฐออนไลน์, รู้จัก HMB สารอาหารสำคัญของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ, https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2689773

 

อาหารทางการแพทย์ ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

TH.2023.37671.ENS.1 (v1.0) ©2023Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง