การดูแลผู้สูงวัย
เมื่อต้องผ่าตัด

การดูแลผู้สูงวัย
เมื่อต้องผ่าตัด

Masthed image
Masthed image
Masthed image

‘ทุกการผ่าตัด ย่อมมีความเสี่ยง’ เป็นประโยคที่ผู้ป่วยและญาติมักจะได้ยินอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นความจริงทางการแพทย์ที่ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเล็กหรือการผ่าตัดใหญ่ ย่อมมีความเสี่ยงมากน้อยตามปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัด ความเสี่ยงจากการใช้ยาระงับความรู้สึก ความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมระหว่างการผ่าตัด ฯลฯ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดเช่นกัน 

ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดที่มีร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ก็จะมีความเสี่ยงน้อย แต่หากผู้ป่วยมีอายุมากหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไต ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นตามอายุของผู้ป่วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ ความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดก็จะสูงกว่าคนทั่วไป  

ผู้สูงอายุกับการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด

การผ่าตัดในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและครอบครัวจำเป็นที่จะต้องเข้าใจสถานการณ์ วิธีการ และกระบวนการรักษาทั้งก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด จากทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อคลายความกังวลและลดความเสี่ยงของอาการ      แทรกซ้อน ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้นในโรงพยาบาล เช่น ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทั่วไป การอดอาหารล่วงหน้า การดูแลเรื่องยา การเตรียมความสะอาดร่างกายทั่วไปและเฉพาะบริเวณที่จะมีการผ่าตัด การควบคุมน้ำหนัก ภาวะโภชนาการ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วก่อนการผ่าตัด รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเช็คค่าความดันโลหิตและค่าน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ กายภาพเพื่อเตรียมความพร้อมตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ต่ำกว่า 2-3 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น รวมถึงหากิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อผ่อนคลายความตื่นเต้น กังวล และความเครียดของผู้ป่วย

โภชนาการสำหรับดูแลผู้สูงอายุภายหลังการผ่าตัด

การผ่าตัดและระยะหลังการผ่าตัด เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการพลังงานและสารอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น แผลหายได้เร็วขึ้น และช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด รวมถึงช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อีกด้วย ในระยะแรกหลังการผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยสามารถเริ่มรับประทานอาหารได้เมื่อไรและเป็นอาหารชนิดใด ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ แพทย์อาจจะให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเสริม แต่หากระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยฟื้นตัวดี แพทย์จะอนุญาตให้ทานอาหารได้ โดยเริ่มจากการจิบน้ำ หรือรับประทานอาหารเหลว อาหารอ่อน ในบางรายอาจเริ่มรับประทานอาหารได้เลย

ผู้ป่วยที่สามารถรับประทานอาหารเองได้ ควรได้รับการดูแลภาวะโภชนาการต่าง ๆ ด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วยิ่งขึ้นและลดโอกาสในการติดเชื้อ เพราะหลังการผ่าตัดร่างกายมักไม่สามารถย่อยอาหารได้ดี หากให้ทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป อาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามหลีกเลี่ยงการนอนดึก โดยเฉพาะในระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด

ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดที่มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย หลับ ๆ ตื่น ๆ ปวดแผล หรือมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องมาจากการเสียเลือด ของเหลวในร่างกาย และฤทธิ์ของยาชา ยาสลบ อาจทำให้มีอาการเบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง ดังนั้นหลังการผ่าตัด ควรเริ่มด้วยอาหารที่อ่อนนุ่ม ย่อยง่าย ไขมันต่ำ กลิ่นอ่อน ในแต่ละมื้ออาหารควรเน้นที่โปรตีน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย ช่วยให้แผลผ่าตัดหายเร็ว ควรเลือกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา ไข่ขาว หรือโปรตีนจากเต้าหู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรเพิ่มวิตามินแร่ธาตุจากผักและผลไม้ เพื่อช่วยในการดูดซึมสารอาหาร การย่อยและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยให้เลือกผักที่มีก้านอ่อนและไม่เหนียว นำมาต้มให้ทานง่ายยิ่งขึ้น ผลไม้ควรเลือกที่อ่อนนุ่มและกลืนง่าย เช่น มะละกอสุก กล้วยสุก หรือมะม่วงสุก แต่ไม่ควรให้รับประทานมากเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลในเลือด และระบบขับถ่าย

ทั้งนี้อาหารที่ควรรับประทานในระยะหลังผ่าตัด ควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ย่อยง่าย กรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารเองได้ แต่ยังทานได้ไม่เต็มที่หรือต้องการพลังงานทดแทน อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนก็เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากทานได้ง่าย รสชาติดี มีหลากหลายรสชาติ จึงสามารถดื่มเสริมอาหารมื้อหลักหรือทดแทนมื้ออาหาร ช่วยให้ได้รับสารอาหารและพลังงานเพิ่มเติมอย่างเพียงพอ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ระหว่างการพักฟื้น หากผู้ป่วยรับประทานอาหารเองได้ แต่ยังทานได้ไม่เต็มที่หรือต้องการพลังงานทดแทน อาหารสูตรครบถ้วนก็เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากทานได้ง่าย รสชาติดี สามารถดื่มเสริมอาหารมื้อหลักหรือทดแทนมื้ออาหาร มีส่วนช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานเพิ่มเติมอย่างเพียงพอ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

กิจกรรมสำหรับฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยหลังผ่าตัด

กิจกรรมสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดตามคำปรึกษาจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของร่างกายและจิตใจให้กลับมาแข็งแรงสามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว เช่น ฝึกหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ ลึก ๆ การฝึกบังคับลมหายใจจะช่วยให้ปอดสามารถทำงานเป็นปกติ การหายใจที่ถูกต้องยังช่วยลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายได้อย่างทั่วถึง ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด บริหารมือด้วยการกำมือแบมือสลับกัน ยกเท้าแล้วกระกดปลายเท้าขึ้น ขยับเท้านิ้ว และงอเข่า หมุนขา ช่วยลดอาการปวดตึงบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น การพลิกตัวและเปลี่ยนท่านอนทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง ช่วยลดอาการ แทรกซ้อน ลดการปวดเมื่อย และลดโอกาสการเกิดแผลกดทับจากการนอนท่าเดิมเป็นเวลานาน ฝึกลุกจากเตียงเพื่อนั่ง ยืน หรือเดิน ควรฝึกอย่าง ๆ ช้า และหาตัวช่วยที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการล้ม นอกจากนี้ การร่วมรับประทานอาหารกับผู้ป่วยเพื่อเสริมสร้างกำลังใจในการรักษาตัว เมื่อผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีก็จะส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเช่นกัน

 

 

TH.2022.26790.ENS.1(v1.0)©2022Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง