เบื่ออาหาร” โรคยอดฮิตในผู้สูงวัย

เบื่ออาหาร
โรคยอดฮิตในผู้สูงวัย

Masthed image
Masthed image
Masthed image

เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ภาวะสูงวัย พฤติกรรมหนึ่งที่เปลี่ยนไปซึ่งมักพบได้บ่อยคือ การรับประทานอาหารได้น้อยลง ซึ่งหากรับประทานอาหารน้อยลงเรื่อยๆ อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงไม่อยากรับประทานเพียงชั่วคราวหรือเป็นอาการต่อเนื่องที่นำไปสู่ภาวะเบื่ออาหาร จนมีผลให้น้ำหนักตัวลดลงเร็วกว่าปกติ ขาดสารอาหาร หรือมีอาการเจ็บป่วยตามมา

รู้ได้อย่างไรว่าแค่เบื่ออาหาร หรือเป็นภาวะเบื่ออาหาร

การเบื่ออาหารอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนในบางครั้ง สังเกตได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป ไม่ค่อยอยากทานอาหาร หรือทานได้น้อยลง แต่ลักษณะเช่นนี้มักพบได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ภาวะการเบื่ออาหารของผู้สูงอายุในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการทานอาหารได้น้อยลง หรือเบื่ออาหารประเภทเดิมๆ แต่หมายถึงการไม่อยากรับประทานไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสุขภาพทางกายและภาวะทางจิตใจร่วมด้วย 

ลักษณะการเบื่ออาหารในผู้สูงวัย

ลักษณะการเบื่ออาหาร รวมถึงการไม่อยากรับประทาน ปฏิเสธการทานอาหารในปริมาณที่เคยกิน หรืออาหารที่เคยชอบ ซึ่งแม้จะรู้สึกหิวแต่ก็ไม่อยากทานอะไร ผลที่ตามมาคือ น้ำหนักตัวลดลง ซึ่งการเบื่ออาหารที่ผิดปกติมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกคลื่นไส้ ท้องผูก ท้องอืด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่อหน่ายกับสิ่งต่างๆ รอบตัว หรือขาดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต

โดยทั่วไป หากสาเหตุการเบื่ออาหารเกิดจากความเครียด ก็มักจะหายไปเองในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้น เช่น น้ำหนักตัวลดลงเร็ว ไม่ทานอาหารหลายวัน ร่างกายมีอาการผิดปกติเมื่อพยายามทานอาหารหรือดื่มน้ำ เช่น ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ ควรรีบไปพบเพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

ในผู้สูงอายุ อาการเบื่ออาหารที่ต่อเนื่อง จะส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร เสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกายและนำไปสู่ภาวะโภชนาการต่ำ เนื่องจากไม่ว่าจะทานอะไรก็ไม่อร่อย หรือมีความรู้สึกว่าไม่อยากทานอะไรทั้งสิ้น อาการขาดสารอาหารไม่ได้แสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ร่างกายจะค่อยๆ อ่อนเพลีย ภูมิต้านทานลดลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อง่าย แผลหายช้า และป่วยง่าย จึงเป็นอาการที่มีผลต่อสุขภาพโดยรวมในระยะยาว

สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงวัยมักเบื่ออาหาร

ภาวะเบื่ออาหารของผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามวัยมีผลทำให้การทานอาหารได้ลดลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • มวลกล้ามเนื้อลดลง สุขภาพฟันและเหงือกไม่แข็งแรง การเคี้ยวอาหารที่มีประสิทธิภาพลดลง หรือมีอาการเจ็บขณะเคี้ยว ก็จะเลี่ยงการรับประทานอาหาร

  • การทำงานของระบบประสาทสัมผัสเริ่มเสื่อมลง ทำให้การดมกลิ่นและรับรสทำงานได้น้อยลง ทำให้รู้สึกทานอาหารไม่อร่อย แม้ว่าอาหารนั้นจะเป็นเมนูที่ชอบ จึงไม่อยากรับประทานอาหาร  

  • ภาวะน้ำลายแห้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้อายุ ทำให้เวลาเคี้ยวอาหารจะฝืดคอ เพราะความชื้นในปากน้อย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก รวมถึงอาจมีอาการสำลักอาหารและน้ำบ่อยๆ จนเบื่อที่จะทานอาหาร เพราะกังวลว่าอาจทำให้เกิดอาการดังกล่าวอีก 

  • ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง การบีบและคลายตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานไม่ปกติ ย่อยอาหารได้ไม่ดี อาจมีอาการแน่นท้องและภาวะท้องผูก ทำให้ผู้สูงอายุทานอาหารลดลง  

  • ภาวะทางจิตใจที่อาจเกิดจากการที่ไม่ได้รับความสนใจจากคนรอบข้าง ส่งผลให้เกิดความเครียด ความน้อยเนื้อต่ำใจ ท้อแท้ ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร 

  • มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือเป็นผลจากอาการของโรคที่ซ่อนอยู่ เช่น โรคนิ่ว โรคไต โรคซึมเศร้า เป็นต้น 

  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิดมีส่วนทำให้เบื่ออาหารได้ เช่น ยาความดัน เบาหวาน ยาที่รักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น รวมถึงการฉายรังสี-เคมีบำบัด

  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น ไม่สามารถออกไปเลือกซื้ออาหารเองได้ ตลอดจนสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อน ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อมาก จึงดื่มน้ำทดแทน ทำให้ไม่ค่อยเกิดอาการหิว

การเบื่ออาหารในผู้สูงวัย...จะแก้ไขอย่างไรดี

การเบื่ออาหารของผู้สูงอายุมักเกิดจากหลายปัจจัยพร้อมๆ กัน เราสามารถป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอาการเบื่ออาหารเป็นเวลานานต่อเนื่องจนมีอาการรุนแรงได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลอย่างใกล้ชิด  
ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเกิดความอยากรับประทานอาหารได้มากขึ้น เช่น

  • ปรับเมนูอาหารให้ไม่จำเจ ปรับรสชาติในแบบที่ผู้สูงอายุชอบ จัดอาหารให้มีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ทั้งประเภทปรุงต้ม ผัด แกง ทอด แต่ไม่ควรให้มันและมีรสจัดจนเกินไป 

  • เพิ่มความสดชื่น ผ่อนคลาย เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความอยากรับประทานอาหาร โดยให้ดื่มน้ำที่ไม่เย็นจัด ให้จิบบ่อยๆ อาจเปลี่ยนจากน้ำเปล่ามาเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรรสหวานน้อย เช่น ใบเตย มะตูม น้ำขิง เป็นต้น 

  • ปรับระบบการกิน โดยรับประทานครั้งละน้อยๆ แต่เพิ่มมื้ออาหารให้บ่อยขึ้น ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อไม่จำเป็นต้องมากแต่ต้องมีพลังงานสูง และเพิ่มอาหารเสริมระหว่างมื้อ  

  • เพิ่มความอยากอาหาร โดยรับประทานขนมหวานหรือผลไม้เล็กน้อยก่อนมื้ออาหาร

  • รับประทานอาหารพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความใกล้ชิดระว่างสมาชิกในครอบครัว 

  • ดูแลสุขภาพปากและฟัน และการขับถ่าย เพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องไม่ผูกในผู้สูงอายุ  

  • ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม จะมีส่วนช่วยทำให้ภาวะเบื่ออาหารที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดลงด้วย

โภชนาการเพื่อการเจริญอาหารสำหรับผู้สูงวัย

นอกจากการปรับระบบมื้ออาหาร การชูรสอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนบรรยากาศแล้ว การปรับโภชนาการเพื่อการเจริญอาหารก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของผู้สูงวัยได้ ดังนี้  

  • เมนูอาหารควรเป็นเมนูที่มีน้ำมาก หรือวัตถุดิบทั้งผักและผลไม้ที่มีน้ำมาก เช่น แตงกวา มะระ ผักโขม ตำลึง ฟักเขียว เป็นต้น

  • เลือกวัตถุดิบมีสรรพคุณช่วยขับลม บำรุงร่างกาย ช่วยย่อย เจริญอาหาร กระตุ้นการไหลเวียน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี เช่น ขี้เหล็ก ลูกจันทน์ ดอกจันทน์กระวาน กานพลู ขิง ข่า กระชาย เป็นต้น 

  • ไม่ปรุงอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม โดยอาจใช้เครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อนเล็กน้อย เพื่อช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ทำให้กระเพาะและลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น และเพื่อให้เกิดความสดชื่น อาจชูรสอาหารด้วยรสเปรี้ยว หรือใช้ผลไม้ปรุงร่วมกับเนื้อสัตว์เพื่อเพิ่มรสชาติ

  • ควรเลือกโปรตีนและแคลเซียมที่ย่อยง่าย เช่น ปลา เต้าหู้ ถั่ว ไข่ เป็นต้น 

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือนมในปริมาณมากก่อนมื้ออาหาร 

 

 

TH.2022.26786.ENS.1(v1.0)©2022Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง