ความสำคัญของแคลเซียมในผู้สูงวัย
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่พบมากที่สุดในร่างกาย โดย 99% ของแคลเซียมในร่างกายจะเป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน แคลเซียมมีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาและสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน ควบคุมการทำงานของหลอดเลือด ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ควบคุมการเต้นของหัวใจ การส่งความรู้สึกไปตามเส้นประสาทการปลดปล่อยฮอร์โมน เป็นต้น
ร่างกายของเราจะมีกลไกที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดให้สมดุล หากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ร่างกายก็จะดึงแคลเซียมที่สะสมในกระดูกเพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมในเลือด แต่ถึงแม้ว่าแคลเซียมจะเป็นแร่ธาตุที่มีอยู่มากในร่างกาย แต่จะมีการสลายและสร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา โดยแคลเซียมที่เป็นมวลกระดูก จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระเฉลี่ยวันละ 800 – 1000 มิลลิกรัม ขณะเดียวกันก็มีการสร้างขึ้นใหม่จากอาหารที่รับประทานเข้าไป เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างแคลเซียมขึ้นมาได้เอง ผู้สูงอายุที่ขาดแคลเซียม จะทำให้ร่างกายดึงแคลเซียมมาจากกระดูก การสลายจึงมากกว่าการสร้าง มวลกระดูกจึงเปราะบางลง จึงต้องเติมแคลเซียมให้อยู่ในภาวะสมดุล เพื่อทดแทนแคลเซียมที่ถูกนำไปใช้หรือถูกขับทิ้งออกจากร่างกายในแต่ละวัน
นอกจากนี้ การที่ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้ดีจำเป็นต้องได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ วิตามินดีจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย และนอกจากแคลเซียมจะมีมากในกระดูกและฟันแล้ว ยังอยู่ภายในเซลล์ และของเหลวนอกเซลล์ รวมถึงพลาสมาด้วย การรักษาแคลเซียมให้สมดุล จึงมีส่วนช่วยป้องกันและลดโอกาสการเจ็บป่วยในผู้สูงอายุได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกเสื่อมและกระดูกหัก ป้องกันภาวะกระดูกพรุน ซึ่งมีส่วนช่วยรักษาสมดุลร่างกายขณะเคลื่อนไหว รวมถึงช่วยเรื่องระบบประสาท บรรเทาอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น
การเสริมแคลเซียมอย่างสมดุลทำได้โดยรับประทานอาหารที่ให้แคลเซียมสูง ควบคู่กับการเสริมวิตามินดีซึ่งจะช่วยให้แคลเซียมที่ได้รับจากการรับประทานอาหารถูกดูดซึมได้ดีขึ้น ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรงไปพร้อมกันอีกด้วย
ปรึกษาด้านสุขภาพและโภชนาการกับผู้เชี่ยวชาญของเรา