เสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้ใหญ่วัย 45+

ทำความเข้าใจกับระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ

Masthed image
Masthed image
Masthed image

ระบบทางเดินอาหารเป็นหนึ่งในระบบที่มีความสำคัญต่อร่างกาย มีบทบาทในการนำสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย เพื่อนำไปใช้เสริมสร้างกล้ามเนื้อ เปลี่ยนเป็นพลังงาน และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ  แต่เมื่ออายุมากขึ้นระบบต่าง ๆ ในร่างกายรวมถึงระบบทางเดินอาหารจะเสื่อมประสิทธิภาพลง ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา และทำให้คุณภาพชีวิตลดลง

การทำงานของระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ

ในการย่อยอาหาร ร่างกายมีระบบการทำงานเชิงกล คือ การเคี้ยว การกลืนผ่านหลอดอาหารที่ช่วยคลุกเคล้าอาหารที่กระเพาะและลำไส้ จากนั้นจะเป็นการย่อยเชิงเคมีโดยน้ำย่อยชนิดต่าง ๆ ซึ่งผลิตมาจากตับ ตับอ่อนและถุงน้ำดีในทางเดินอาหาร 

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบย่อยและการดูดซึมสารอาหารจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเสื่อมถอยของร่างกาย ตั้งแต่การนำอาหารเข้าสู่ร่างกาย ความอยากทานอาหารที่ลดลง ฟันที่ใช้เคี้ยวอาหารโยกคลอน การบดเคี้ยวทำได้ไม่ดี การไหลผ่านของอาหารจากลำคอสู่กระเพาะอาหารช้าลง การบีบรัดตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารลดลง จนถึงประสิทธิภาพการย่อยและดูดซึม น้ำย่อยในกระเพาะอาหารลดความเป็นกรดลง 

นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่อาจย่อยได้ไม่หมดหรือย่อยได้ช้า ไม่ได้ผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่ อาจสะสมกันจนเกิดเชื้อแบคทีเรียและปล่อยก๊าซออกมาทำให้ท้องอืด หรืออาจเกิดอาการท้องผูกจากการที่ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบย่อยอาหารของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ 

การดูแลระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ

การดูแลระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ เกี่ยวข้องกับอาหารและพฤติกรรมการกินที่จะช่วยให้การย่อยอาหารง่ายขึ้น และสามารถขับถ่ายได้ตามปกติ ผู้สูงอายุจึงควรดูแลสุขภาพตั้งแต่ช่องปาก ฟันและเหงือก เพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับฟัน ฟันปลอม ดูแลไม่ให้เกิดแผลในปาก รวมถึงงดสูบบุหรี่และดื่มเหล้า เพราะมีความเสี่ยงต่อโรคภายในช่องปาก ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำจิตใจให้แจ่มใส่ ไม่เครียด ออกกำลังกายเป็นประจำ และฝึกการขับถ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก ภาวะของโรคในผู้สูงอายุบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน มีโอกาสทำให้ท้องผูกได้ง่าย ผู้สูงอายุบางคนรับประทานอาหารน้อยลง และบางคนก็รับประทานอาหารที่มีกากใยไม่ค่อยได้ ก็เป็นสาเหตุให้ขับถ่ายยากและท้องผูกได้เช่นเดียวกัน 

การกินเพื่อระบบย่อยอาหารที่ดี

การเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของระบบย่อยอาหาร ควรเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยได้ง่ายและช่วยในการขับถ่าย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบย่อย ดังนี้   

  • ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้แคลอรี่เพียงพอและรับประทานไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน 
  • ควรเน้นโปรตีนจากไข่ เนื้อสัตว์ และปลา และไม่ควรให้ผู้สูงอายุได้รับอาหารโปรตีนสูงเกินไป เนื่องจากอาจทำให้การย่อยและดูดซึมอาหารไม่ดี และเป็นภาวะเสี่ยงต่อไตในการขับถ่ายของเสีย 
  • ผู้สูงอายุบางคนที่ไม่ได้ดื่มนมเป็นประจำ อาจมีอาการท้องอืดหรือท้องเดินได้ เพราะร่างกายไม่สามารถย่อยคาร์โบไฮเดรตที่เป็นน้ำตาลแลคโตส จึงอาจค่อย ๆ ปรับสภาพร่างกายด้วยการเลือกนมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลแลคโตสก่อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เพราะอาจส่งผลให้อาหารไม่ย่อยได้ 
  • ควรรับประทานผักและผลไม้ทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงใยอาหารที่จะช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น เช่น กล้วยน้ำว้าสุก ส้ม มะละกอ ชมพู่ เป็นต้น 
  • ผู้สูงอายุอาจรับประทานได้ไม่มาก จึงอาจแบ่งเวลารับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ 4 – 5 มื้อในช่วงวัน เพื่อร่างกายจะได้รับสารอาหารเพียงพอ 
  • ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมดุล 

 

 

TH.2022.26780.ENS.1(v1.0)©2022Abbott

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง