โภชนาการสำหรับผู้ป่วยในระยะพักฟื้น

โภชนาการสำหรับ
ผู้ป่วยในระยะพักฟื้น

Masthed image
Masthed image
Masthed image

เมื่อเกิดการเจ็บป่วยและได้รับการรักษาจนอยู่ในระยะฟักฟื้นแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นตัวเป็นปกติและกลับคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็วหรือไม่นั้น กำลังใจที่ดีจากคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารที่ดีมีประโยชน์อย่างครบถ้วนเหมาะสม เพราะผู้ป่วยในระยะพักฟื้นจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่สึกหรอและเปลี่ยนเป็นพลังงาน ช่วยฟื้นฟูร่างกายในระยะยาวและป้องกันภาวะขาดสารอาหาร

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทานอาหารเหมือนเดิมได้ 

เมื่อมีอาการเจ็บป่วย หนึ่งภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้คืออาการเบื่ออาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในผลข้างเคียงของความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารลดลง ซึ่งอาการเบื่ออาหารนี้สามารถนำไปสู่อาการ   อื่น ๆ ได้ เช่น การขาดสารอาหาร น้ำหนักลดจนซูบผอม ไร้เรี่ยวแรง หรือหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นร้ายแรงกว่าเดิม และหากผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหารในระยะพักฟื้นจะทำให้การฟื้นตัวของร่างกายช้าลง และง่ายต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอีกด้วย 

การเบื่ออาหารในผู้ป่วยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาสุขภาพทางกาย เช่น การเบื่ออาหารจากการติดเชื้อหรือการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งการเบื่ออาหารนี้จะหายไปเมื่อการติดเชื้อหรือการอักเสบได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ นอกจากนี้การเบื่ออาหารอาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพทางจิต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาการที่สามารถบ่งชี้ถึงกลุ่มอาการทางจิตต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรือภาวะความเครียด เป็นต้น และยังสามารถเป็นหนึ่งในอาการของโรคบกพร่องทางการกิน และการเบื่ออาหารเนื่องจากผลข้างเคียงของการใช้ยา การใช้ยาบางประเภทในการรักษาอาการเจ็บป่วยอาจมีส่วนทำให้เกิดการเบื่ออาหารได้ ดังนั้น จึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อปรับปริมาณหรือชนิดยาให้เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร 

การเบื่ออาหารของผู้ป่วยอันเนื่องมาจากปัจจัยเหล่านี้เป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเมนูอาหารให้มีความสอดคล้องต่อสภาวะของร่างกายที่ต่างไปจากปกติ 

โภชนาการสำหรับการฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย 

ช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะพักฟื้นจะเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอและเหมาะสม  การเจ็บป่วยของร่างกายอาจทำให้ผู้ป่วยบางคนมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้ได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายต้องมีการสลายกล้ามเนื้อและไขมันเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน ประกอบกับระบบต่าง ๆ ในร่างกายกำลังฟื้นฟูและไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น ในระยะแรกอาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่ายและดูดซึมได้เร็ว และควรเลือกรับประทานอาหารได้รับสารอาหารและพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอและเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว ดังนี้ 

  • อาหารที่มีโปรตีนมีคุณภาพ เพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อที่สลายไป สร้างเม็ดเลือดแดง กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยควรเลือกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เนื้อหมูไม่ติดมัน ปลา ไข่ ทะเล และโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ เป็นต้น  

  • อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตที่ดีมีใยอาหารสูง เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานหลักของร่างกาย ส่วนใยอาหาร 
    จะช่วยบรรเทาและป้องกันอาการท้องผูก อาหารประเภทนี้ เช่น ข้าว ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ลูกเดือย ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวโพด ขนมปังโฮลวีต เผือก มัน ฟักทอง  

  • อาหารที่มีโอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยลดการอักเสบในร่างกายได้ เช่น อาหารทะเลหรือปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลากะพง ปลาน้ำจืด เป็นต้น รวมถึงถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ และเลือกน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารชนิดที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า และน้ำมันเมล็ดชา 

  • นมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำหรือขาดมันเนย รวมทั้งโยเกิร์ตรสธรรมชาติที่จะช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีน แคลเซียม และจุลินทรีย์สุขภาพดีและที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 

  • ผักและผลไม้สีต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามิน ซี อี และเอ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อ วิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้มีส่วนช่วยในการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย  

ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นควรได้รับสารอาหารที่ครบ 5 หมู่มีสารอาหารที่หลากหลายเพื่อทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างพักฟื้นได้ 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยระหว่างการพักฟื้น 

ระหว่างการพักฟื้นของผู้ป่วย อาหารที่ควรเลี่ยง เนื่องจากอาจส่งผลต่อสุขภาพและทำให้ฟื้นตัวได้ช้า เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง กลุ่มอาหารเบเกอรี่ อาหารหมักดองอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน และอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เนื่องจากอาหารเหล่านี้สามารถเพิ่มการอักเสบของร่างกายได้  

นอกจากอาหารบางประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงแล้ว การปรับพฤติกรรมถือเป็นอีกหนึ่งความจำเป็น โดยผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การนอนดึก หรือความเครียด เพื่อให้ทั้งร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนและฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่  

 

 

TH.2022.26791.ENS.1(v1.0)©2022Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง