เช็กสัญญาณมวลกล้ามเนื้อสลาย

เช็กสัญญาณ

มวลกล้ามเนื้อสลาย

masthed image
masthed image
masthed image

ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ง่ายเมื่อเราอายุมากขึ้น คือสุขภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง โอกาสที่จะไม่สบายหรือเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย แม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องใช้กล้ามเนื้อ เช่น เดินขึ้นบันได เปิดกระตู เปิดฝาขวดน้ำ ก็ดูเป็นสิ่งที่ยาก หรือหากเกิดการกระแทกเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้กระดูกแตกหรือหักได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นั่นเพราะเมื่อเราอายุมากขึ้น ร่างกายจะค่อยๆ เกิด “ภาวะการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ” หรือ “ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย” (Sarcopenia) อย่างช้าๆ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเกินไปสำหรับการชะลอความเสื่อมของมวลกล้ามเนื้อตั้งแต่ระยะแรกๆ การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อจึงเป็นเสมือนเกราะป้องกันร่างกาย ที่สำคัญ ซึ่งเราไม่ควรมองข้าม

กล้ามเนื้อมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ช่วยคงความหนาแน่นของมวลกระดูก และยังช่วยรองรับแรงกระแทกทำให้กระดูกไม่หักเวลาหกล้ม รวมถึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ มวลกล้ามเนื้อยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะโรคอ้วนลงพุงและโรคเบาหวาน ที่เกิดจากการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ยิ่งร่างกายมีปริมาณกล้ามเนื้อมาก การกักเก็บคาร์โบไฮเดรตก็จะมีมาก ความสามารถในการตอบสนองต่ออินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมันของร่างกายก็มีมากตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อชะลอภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับโปรตีนที่จำเป็นในปริมาณที่เพียงพอ และสารอาหารอื่นๆ ได้แก่ โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินดี เพื่อช่วยในการปรับสมดุลการทำงานของกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ

จับสัญญาณ...ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ 

ร่างกายของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อ ไขมันและกระดูกอยู่ตลอดเวลา เมื่ออายุมากขึ้น  การเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลงกว่าเดิมจะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรง ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณสื่อให้รู้ว่าผู้สูงอายุอาจมีมวลกล้ามเนื้อน้อยลง เช่น รู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยง่าย เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ลุกนั่งลำบาก ทรงตัวไม่ดี อาจหกล้มบ่อย น้ำหนักตัวลดลงอย่างสังเกตเห็นได้ หรือมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

ผู้สูงอายุที่้มีภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออาจมีความเสี่ยงต่อการหกล้มสูงมากกว่าปกติถึง 3 เท่า จึงควรให้ความสำคัญและสังเกตสัญญาณของภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เพราะอาจนำไปสู่การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ 

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตามธรรมชาติแล้ว เมื่อคนเราอายุ 40 ปีขึ้นไป มวลกล้ามเนื้อจะลดลงประมาณ 8% ในทุกๆ 10 ปี ซึ่งจะเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างเห็นได้ชัดเมื่ออายุประมาณ 65 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 70 ปี มวลกล้ามเนื้อจะลดลงเป็นเท่าตัวถึง 15% ในทุกๆ 10 ปี นั่นหมายความว่า ในช่วงอายุ 40-80 ปี มวลกล้ามเนื้อของเราอาจหายไปถึง 1 ใน 3 และหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นโดยไม่ทำอะไร ก็จะยิ่งส่งผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจนอาจเดินไม่ได้ 

นอกจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลงซึ่งเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของอายุแล้ว การได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอก็เป็นอีกสาเหตุหนี่งที่ทำให้เกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ดังนั้น ร่างกายจึงจำเป็นต้องได้รับโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไป มีรายงานการวิจัยระบุว่าผู้สูงอายุควรได้รับโปรตีนในปริมาณ 1.0-1.3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนเหมาะต่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่หาได้ง่าย เช่น เนื้อสัตว์ปีก อกไก่ ปลา คีนัว ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง มัน ผักโขม ผลิตภัณฑ์นม เต้าหู้ ถั่วชนิดต่าง ๆ และไข่ 

ดังนั้น การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะหากเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ เช่น เสี่ยงต่อการหกล้ม และอาจไม่สามารถ ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เป็นต้น  

การเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง...ทำได้ง่ายกว่าที่คิด

การดูแลกล้ามเนื้อให้แข็งแรงทำได้ง่ายๆ จากการรักษาสมดุลของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ โดยสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อคือ โปรตีน ซึ่งต้องได้รับอย่างเพียงพอในปริมาณที่สมดุลในแต่ละวัน เพื่อเสริมสร้างเซลล์กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอาหารที่มีกรดอะมิโนจำเป็นสูง เช่น ถั่วเหลือง เนื้อปลา เนื้อวัว เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและช่วยเพิ่มเส้นใยของกล้ามเนื้อ

เมื่อร่างกายได้แหล่งพลังงานจากสารอาหารแล้ว การออกกำลังกายแบบแรงต้านจะช่วยเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อได้ หลักการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุควรเริ่มจากการยืดกล้ามเนื้อและอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ และควรเลือกการออกกำลังกายในแบบที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Resistive Exercise) อย่างน้อย 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับการออกกำลังกายแบบเพิ่มความทนทาน (Aerobic Exercise) ซึ่งจะช่วยสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อ และช่วยให้ไขมันในกล้ามเนื้อลดลง 

การออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุมีหลายประเภท เช่น การเดินเร็วหรือวิ่งช้าๆ การว่ายน้ำหรือเดินในน้ำ ขี่จักรยาน กายบริหาร รำมวยจีน และโยคะ เป็นต้น

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ให้โปรตีนจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม เป็นพื้นฐานสำคัญในการรักษามวลกล้ามเนื้อไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าวัยผู้สูงอายุ 

เสริมโปรตีน...ชะลอภาวะการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ

นอกจากการรับประทานอาหารมื้อหลักตามปกติแล้ว ผลิตภัณฑ์เสริมสารอาหารยังเป็นทางเลือกของแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับผู้สูงวัย เพราะในช่วงอายุระหว่าง 40-70 ปี โดยเฉลี่ยแล้วจะรับประทานอาหารน้อยลงถึง 25%ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น การเบื่ออาหารเนื่องจากระบบย่อยอาหารที่ทำงานได้ลดลง โรคประจำตัวที่จำกัดประเภทของอาหาร รวมถึงสภาพอารมณ์ที่ซึมเศร้าก็มีผลต่อความอยากอาหารในผู้สูงอายุ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญในการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ ควรเสริมด้วยโปรตีนที่หลากหลาย เช่น เวย์โปรตีน (Whey Protein) เคซีนโปรตีน (Casein Protein) โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง (Soy Protein Isolate) เป็นต้น เพื่อช่วยชะลอภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยและเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ   

เวย์โปรตีนและเคซีนโปรตีนพบได้มากในนมวัวทั่วไป ในสัดส่วน 20:80

เวย์โปรตีนนั้นอุดมด้วยกรดอะมิโนจำเป็นสูง เป็นโปรตีนที่ร่างกายย่อยได้ง่าย และมีกรดอะมิโนลิวซีน (Leucine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญในการช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ

ส่วนเคซีนนั้นเป็นโปรตีนชนิดฟอสโฟโปรตีน (phosphoprotein) ที่พบราว 80% ของโปรตีนทั้งหมดในน้ำนม  มีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ โปรตีนชนิดนี้จะถูกร่างกายดูดซึมและนำไปใช้อย่างช้าๆ ช่วยให้กรดอะมิโน ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

สำหรับโปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่างๆ เช่น กรดอะมิโน คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี มีวิตามิน เกลือแร่ และยังมีกากใยอาหารสูง

การเสริมโปรตีนที่หลากหลายทั้ง 3 ชนิดในปริมาณที่สมดุลในผลิตภัณฑ์เสริมสารอาหารจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยชะลอภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในระยะยาวได้

 

 

TH.2022.25832.ENS.1(v1.0)©2022Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง