10 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคเบาหวาน

10 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคเบาหวาน

Banner
Banner
Banner

โรคเบาหวาน คือโรคที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังเป็นเวลานานจะมีผลแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดหัวใจ ตา ไต สมอง และระบบประสาทส่วนปลาย โรคเบาหวานเกิดอาจจากกรรมพันธุ์ ร่วมกับพฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่มีแป้งและไขมันมาก หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณมาก รวมทั้งการไม่ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนยังมีความเข้าใจหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องในเรื่องของโรคเบาหวาน

10 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

รับประทานอาหารที่มีรสหวานมากจะทำให้เป็นเบาหวาน

ด้วยชื่อของโรคเบาหวาน ทำให้หลายคนมีความเข้าใจผิดว่าโรคเบาหวาน ก็คือโรคของคนที่กินอาหารหวานมาก ดังนั้นคนที่ไม่กินหวานก็จะไม่เป็นโรคเบาหวาน

ตอบ ความจริงแล้วสาเหตุหลัก ๆ ของโรคเบาหวานก็คือการที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ อินซูลินมีหน้าที่สำคัญในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าร่างกายของเราผลิตฮอร์โมนตัวนี้ได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะรับประทานอาหารหวานสักแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรคเบาหวาน  เพียงแต่จะส่งผลต่อน้ำหนักตัว เพราะน้ำหนักที่มาก ปริมาณไขมันจะเป็นตัวทำให้เซลล์ต่างๆ เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเกิดโรคเบาหวานในที่สุด 

การรับประทานอาหารรสหวานจัดหรือมีน้ำตาลมากไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคเบาหวานเสมอไป หากมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

โรคเบาหวานอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือการทำงานที่ผิดปกติของตับอ่อนทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ เพราะไขมันอิ่มตัวมีผลต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

เป็นเบาหวาน ห้ามกินขนมหวานหรืออาหารที่มีรสหวานเด็ดขาด

เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง   ซึ่งเรื่องนี้ทำให้หลายคนเข้าใจว่าการงดอาหารทุกประเภทที่มีรสหวาน หรือน้ำตาลเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะขนมหวาน  น้ำหวานทั้งหลาย จะทำให้ปลอดภัยจากโรคเบาหวานได้

ตอบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะนอกจากแป้งและน้ำตาลจะเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานแล้ว เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดงที่มีไขมันมาก และอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ เนื่องจากไขมันอิ่มตัวจะเข้าไปยับยั้งอินซูลินให้ออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลด ตับอ่อนจึงต้องผลิตอินซูลินออกมาเพิ่มมากกว่าปกติ ส่งผลให้ตับอ่อนทำงานหนักเกินไปและเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ดีเท่าตอนที่ยังทำงานปกติ จึงทำให้เกิดโรคเบาหวาน

เบาหวาน เป็นโรคพันธุกรรม ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้

ตอบ บางคนเข้าใจว่าถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคเบาหวาน ลูกก็ต้องป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน แม้ว่าโรคเบาหวานจะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ลูกอาจไม่ได้มีโอกาสเป็นเบาหวาน 100% เสมอไป พันธุกรรมไม่ได้มีส่วนก่อโรคเบาหวานมากเท่าไร เพราะคนเป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักเกิดจากปัจจัยอื่นๆ มากกว่า เบาหวานสามารถป้องกันได้หากดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ มีการตรวจเลือด ตรวจสุขภาพประจำปี เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานได้

หากคนในครอบครัวไม่เป็นโรคเบาหวาน เราก็จะไม่เป็นเบาหวาน

ตอบ พันธุกรรมเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวาน หากเรามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงเป็นประจำ ปล่อยให้น้ำหนักตัวมาก พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียดสะสมมากนานเข้าก็ก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน

ผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะเป็นเบาหวาน

ตอบ แม้พบว่าช่วงวัยผู้สูงอายุ อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมการทำงานลง มีแนวโน้มพบภาวะเบาหวานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ ไม่ได้เป็นเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น

เบาหวานประเภทที่ 1 ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กหรือคนอายุน้อย

เบาหวานประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบว่าคนอายุน้อยก็เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ด้วย

คนที่เป็นเบาหวานต้องอ้วน

ตอบ เบาหวานเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง การไม่ออกกำลังกาย มีภาวะเครียดบ่อยๆ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมก็มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานได้ทั้งนั้น  ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก มีการเสียน้ำตาลไปทางปัสสาวะมาก จะมีปัญหาน้ำหนักลดและผอมแบบทรุดโทรม

ความเชื่อว่า น้ำตาลจากผลไม้คือน้ำตาลที่ปลอดภัย

ตอบ ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนต้องงดขนมหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้เพิ่มขึ้นด้วยเหตุนี้ ผลไม้จึงกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะใครๆ ต่างก็คิดว่าผลไม้นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงพฤติกรรมการกินผลไม้ของผู้ป่วยเบาหวานกลับกลายเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงกว่าเดิม เนื่องจากในผลไม้มีน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) ซึ่งเมื่อกินเข้าไปจะแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถกินผลไม้ได้  เพียงแค่รู้จักปรับวิธีกินให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมและควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานเท่านั้น

เป็นเบาหวานห้ามบริจาคเลือด

ตอบ ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถบริจาคเลือดได้ หากมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบุคลากรทางการแพทย์เป็นสำคัญ

ถ้าเป็นเบาหวานต้องฉีดอินซูลิน แสดงว่าเข้าขั้นสุดท้ายแล้ว

ตอบ การรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 มีเป้าหมายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน กรณีที่ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้ยารับประทานแล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 1 เนื่องจากมีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน มีผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามธรรมชาติ จึงต้องรักษาโดยการให้อินซูลินเป็นหลัก

แป้งและน้ำตาลเท่านั้นที่ก่อโรคเบาหวาน

ตอบ เนื่องจากโรคนี้มีชื่อว่า “เบาหวาน” ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ปัจจัยก่อโรคเกิดจากการกินแป้งหรือน้ำตาลเป็นหลัก แต่จากการศึกษาพบว่านอกจากแป้งและน้ำตาลแล้ว ไขมันอิ่มตัวก็เป็นอีกตัวการหนึ่งที่ก่อโรคเบาหวาน เพราะไขมันอิ่มตัวจะไปยับยั้งให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ช้า และเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลด ตับอ่อนจึงต้องผลิตอินซูลินออกมาเพิ่มเกินกว่าปกติ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักเกินไปและเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เหมือนปกติ ซึ่งจะนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด

ผู้ป่วยเบาหวานและคนดูแลควรมีการศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เช่น สืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ พร้อมทั้งการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง นับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพ

 

TH.2023.38593.GLU.1 (v1.0) ©2023Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง