7 Tips ถนอมไตห่างไกลโรค

7 Tips ถนอมไต
ห่างไกลโรค

Banner
Banner
Banner

7 Tips ถนอมไตห่างไกลโรค

ไตเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่ต้องทำงานหนัก มีหน้าที่ทั้งรับและกรองของเสียออกจากร่างกาย แต่คุณทราบไหมว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลายอย่าง มีส่วนทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้น จนเสื่อมสภาพเร็วกว่าเวลาอันควร เช่น กินไม่เลือก ขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสะสม ฯลฯ จนก่อให้เกิดโรคที่มากับไลฟ์สไตล์เหล่านี้อย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นโรคต้นทางที่นำความเสื่อมมาสู่ไตเร็วขึ้น

 

ดังนั้นเรามี Tips ดีๆ ในการลดภาระ ยืดอายุการทำงานของไตมาฝากกัน เพื่อปกป้องและถนอมไตให้แข็งแรง คุณจะได้มีความสุขกับการใช้ชีวิต

parallax
 
  1. ปรับการรับประทานอาหาร1 “You are what you eat” กินอย่างไรได้อย่างนั้น เป็นเรื่องจริงเสมอ หลายคนกินแบบอร่อยปากแต่ลำบากกายในภายหน้า เช่น กินเค็มประจำจนได้โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเป็นของแถม กินหวานมันประจำอาจได้โรคอ้วน เบาหวาน หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคคู่ตัว ฯลฯ ดังนั้นควรเลือกกินอาหารที่ลดโอกาสเป็นโรคเหล่านี้ ลดการกินอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารรสเค็ม อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป อาหารใส่ผงชูรสและผงฟู งดอาหารไขมันสูง ของหวาน ของทอด เครื่องดื่มที่ใส่นมและน้ำตาลมากๆ เป็นต้น
  2. ดื่มน้ำให้พอเพียง1  ประมาณ 1.5-2 ลิตรในแต่ละวัน เพราะไตมีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ถ้าสูญเสียน้ำหรือปริมาณไม่เพียงพอ ไตจะดึงน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น สังเกตได้จากปัสสาวะออกน้อย มีสีเข้มขึ้น ถ้าร่างกายขาดน้ำนานจะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน เช่น ในคนที่ท้องเสียรุนแรงหรือฮีทสโตรก  
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ1 เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ผ่อนคลายความเครียด ช่วยควบคุมความดันโลหิต และเผาผลาญไขมันได้ดี มีกล้ามเนื้อแข็งแรง ที่สำคัญเลือดสูบฉีดได้ดีไปทั่วร่างกาย ระบบต่างๆ ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงไตด้วย
  4. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด แก้อักเสบเกินความจำเป็น2 เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบในกลุ่ม NSAIDs หากกินต่อเนื่องในปริมาณมากหรือกินโดยไม่จำเป็น อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของไต ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตได้ลดลง นอกจากนี้ยังไม่ควรซื้อยาชุดตามร้านขายยากินเอง เพราะอาจมีส่วนผสมของยาเหล่านี้ หากใช้ไปนานๆ อาจได้รับยาเกินขนาดโดยไม่รู้ตัว จึงควรหลีกเลี่ยงดีที่สุด
  5. รักษาโรคประจำตัว2 หรือโรคที่เป็นบ่อยๆ ที่ส่งผลกับไต เช่น ท้องเสียบ่อย ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ โรคเกาต์ โรค SLE โรคหัวใจ เพราะโรคเรื้อรังต่างๆ นี้มีส่วนทำให้ไตเสื่อมได้เร็ว
  6. ตรวจสุขภาพประจำปี1  ตรวจเช็คความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และเกลือแร่ต่างๆ การทำงานของไต ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ฯลฯ หากพบค่าผิดปกติจะได้หาสาเหตุและรักษาแต่เนิ่นๆ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของไตเสื่อม
  7. หลีกเลี่ยงความเครียดและผ่อนคลายอารมณ์1 เพราะความเครียดเป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูง และระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติได้แบบที่คุณคาดไม่ถึง การหากิจกรรมผ่อนคลาย การฝึกจิต ปรับวิธีคิด ลดการยึดติด ฯลฯ ให้เป็นนิสัยก็จะห่างไกลความเครียดและโรคต่างๆ อย่างเห็นผล

 

เคล็ดไม่ลับเหล่านี้ คงไม่ยากเกินไปสำหรับทุกคน เริ่มปรับเปลี่ยนเสียแต่วันนี้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพียงตั้งเป้าหมายเพื่อสุขภาพไตที่ดี ผลลัพธ์ที่จะได้ไม่เพียงห่างไกลโรคไต แต่ยังได้สุขภาพองค์รวมที่แข็งแรงอีกด้วย

 

เอกสารอ้างอิง:

  1. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย[อินเทอร์เน็ต].คู่มือสำหรับประชาชน ทำอย่างไรไตไม่วาย; c2567[สืบค้น 3 ธ.ค.2566].เข้าถึงได้ที่: 2019-03-15-021.pdf (hrh.go.th).
  2. โรงพยาบาลสุขุมวิท[อินเทอร์เน็ต].ดูแล ไต อย่างไรให้ห่างจาก “โรคไต”;c2567[สืบค้น 3 ธ.ค.2566].เข้าถึงได้ที่: ดูแล ไต อย่างไรให้ห่างจาก “โรคไต” (sukumvithospital.com).

 

TH.2023.44567.NEP.1 (v1.0) ©2024Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง