เบาหวานและความดันโลหิตสูง ตัวการทำร้ายไต

เบาหวานและ
ความดันโลหิตสูง
ตัวการทำร้ายไต

Banner
Banner
Banner

เบาหวานและความดันโลหิตสูง ตัวการทำร้ายไต

parallax

โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นสองโรคยอดฮิตในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่คนไทยเป็นกันมาก และยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่นำไปสู่โรคไตวายเรื้องรัง1 แล้วสองโรคนี้เกี่ยวข้องกับไตอย่างไร?

 

ความดันโลหิตสูง

parallax

สาเหตุของความดันโลหิตสูงมีมากมายทั้งที่รู้สาเหตุและที่ไม่รู้สาเหตุ ตามธรรมชาติความดันโลหิตจะสูงขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น ในคนทั่วไปจะมีความดันโลหิตปกติอยู่ที่ 120/80 มม.ปรอท หมายถึงความดันตัวบน (systolic) ช่วงที่หัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือด ต่ำกว่า 120 มม.ปรอท และความดันตัวล่าง (diastolic) ช่วงหัวใจคลายตัวมีความดันต่ำกว่า 80 มม.ปรอท ดังนั้นคนที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอทในระหว่างนั่งพัก ถือว่ามีความดันโลหิตสูง1 โรคนี้มีความสัมพันธ์กับโรคไตอย่างมาก ซึ่งเป็นได้ทั้งต้นเหตุและผลลัพธ์ของโรคไต

 

ความดันโลหิตสูงเป็นต้นเหตุของโรคไต

เมื่อความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานจะทำให้หลอดเลือดในไตตีบ เนื่องจากผนังหลอดเลือดหนาและแข็งขึ้น เกิดภาวะเนื้อไตขาดเลือด ส่งกระทบต่อการทำงานของไตและโครงสร้างเนื้อไต และยิ่งความดันโลหิตสูงมากขึ้นก็จะมีการรั่วของโปรตีนจากหลอดเลือดออกมาในปัสสาวะมากขึ้น เกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมา จะทราบได้ว่าไตผิดปกติก็จากการตรวจระดับบียูเอ็น (BUN) ครีอะตินิน (creatinine) และโปรตีนไข่ขาวหรืออัลบูมินในปัสสาวะที่มีค่าเพิ่มขึ้น1 ทางที่ดีเมื่ออายุเข้าเลข 4 ก็ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ หากเริ่มมีความดันโลหิตสูงควรพบแพทย์และควบคุมความดันโลหิตให้ใกล้เคียงค่าปกติที่ 120/80 มม.ปรอท เพื่อชะลอการเสื่อมของไตและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ ที่จะตามมา

 

ความดันโลหิตสูงเป็นผลลัพธ์ของโรคไต

ในผู้ที่เป็นโรคไตบางชนิด เช่น เนื้องอกต่อมหมวกไต ไตเสื่อม ไตวายที่ไม่ใช่จากสาเหตุความดันโลหิตสูง ทำให้ประสิทธิภาพการขับของเสีย น้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายผิดปกติไป  ยิ่งถ้าเป็นรุนแรงก็ไม่สามารถขับออกได้ ทำให้น้ำและเกลือแร่สะสมมากในร่างกาย จนเกิดความดันโลหิตสูงขึ้น1 ไตคนเราปกติจะสามารถขับโซเดียม เช่น เกลือ ส่วนเกินออกได้หมดเสมอ แต่ถ้าไตเสื่อมสภาพแล้วยังกินอาหารที่มีโซเดียมสูงทั้งที่ไตไม่สามารถขับออกได้เหมือนเดิม ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา

 

เบาหวาน

parallax

เบาหวานเกิดจากความผิดปกติในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกาย ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มีสาเหตุจากการขาดอินซูลินจากตับอ่อน หรือมีการดื้ออินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ และเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและใหญ่ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างขึ้น เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา และที่สำคัญคือ โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งเกิดได้ถึงร้อยละ 40 ของคนที่เป็นเบาหวาน1

 

เบาหวานกระทบต่อไตอย่างไร

ในช่วงแรกที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะทำงานมากขึ้นและมีการกรองที่เพิ่มขึ้น โดยที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ให้รู้ เมื่อเป็นมากขึ้นจะกระทบต่อหลอดเลือดที่ไต และตรวจพบโปรตีนไข่ขาวหรืออัลบูมินที่รั่วในปัสสาวะ1 นี่คือสัญญาณว่าเบาหวานกระทบต่อไตแล้ว นอกจากนี้ยังอาจมีอาการบวม ความดันโลหิตสูง และเมื่อไตเสื่อมการทำงานไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย

ดังนั้นในผู้เป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน หรือคนที่เป็นทั้งสองโรค จึงต้องเน้นการคุมความรุนแรงของโรคไม่ให้ไปทำลายไต ด้วยการคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ รวมทั้งควบคุมน้ำหนักตัว ไขมันในเลือด คุมอาหาร หมั่นออกกำลังกาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือด1 เท่ากับช่วยชะลอการเสื่อมของไต แต่ถ้าปล่อยปละละเลยตั้งแต่ช่วงแรกของการเป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง จึงเป็นการชะล่าใจอย่างยิ่งซึ่งจะนำมาสู่ไตวายในที่สุดทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้

 

เอกสารอ้างอิง:

1.      สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย[อินเทอร์เน็ต].คู่มือสำหรับประชาชน ทำอย่างไรไตไม่วาย; c2567[สืบค้น 30 พ.ย.2566].เข้าถึงได้ที่: 2019-03-15-021.pdf (hrh.go.th).

 

TH.2023.44567.NEP.1 (v1.0) ©2024Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง