ไตวายเฉียบพลันกับไตวายเรื้อรัง ต่างกันอย่างไร

ไตวายเฉียบพลันกับไตวายเรื้อรัง ต่างกันอย่างไร

Banner
Banner
Banner

ไตวายเฉียบพลันกับไตวายเรื้อรัง ต่างกันอย่างไร

parallax

ไตวาย (Kidney Failure, Renal Failure) เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ในทุกช่วงอายุ สุขภาพของไตจะแข็งแรงหรือเสื่อมลงส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิต ความรู้เท่าทันในการดูแลไต ซึ่งไตวาย หมายถึง ภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด ของเสียจึงคงตกค้างอยู่ในร่างกาย หากปล่อยไว้อาจส่งผลทำให้ระบบภายในต่างๆ ทำงานผิดปกติ และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

ไตวายมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง ทั้งสองโรคนี้ต่างกันอย่างไร

 

ไตวายเฉียบพลัน1

parallax

มักจะมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันทันที รวดเร็ว ในไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วันหรือสัปดาห์ อาการจะรุนแรงกว่าโรคไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุที่กระทบต่อไตแบบเฉียบพลัน เช่น แพ้ยาบางชนิด ติดเชื้อ ขาดสารน้ำรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการอาเจียนรุนแรง ฮีทสโตรก มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น1 โดยไตวายฉับพลันมีอาการชวนสังเกตคือ รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนบ่อย มึนงง ปัสสาวะน้อยลง ปวดหลังบริเวณชายโครง หายใจถี่1 แต่ละคนอาการแสดงอาจแตกต่างกันไป ไตวายเฉียบพลันสามารถยืนยันได้ด้วยการตรวจค่าเกลือแร่ในร่างกายที่ผิดปกติ ค่าโพแทสเซียมสูง ค่าเลือดมีความเป็นกรด ในคนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้ถึงขั้นชักหรือช็อคหมดสติ โคม่าเฉียบพลันได้1

 

ถ้าได้รับการรักษารวดเร็วตรงสาเหตุที่ทำให้ไตวายเฉียบพลันก็สามารถหายขาดได้ เนื้อไตฟื้นสภาพกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือนำไปสู่โรคไตวายเรื้อรังต่อไป1

 

ไตวายเรื้อรัง1

parallax

จะค่อยๆ แสดงอาการออกมาเป็นระยะ จากการที่ไตค่อยๆ เสื่อมสภาพการทำงานลง อาจกินเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี เริ่มแรกอาจไม่มีอาการใดๆ2 หรือหากมีก็ดูไม่รุนแรง เพราะร่างกายสามารถปรับตัวตามสภาพความผิดปกติไปเรื่อยๆ  กระทั่งการทำงานของไตลดลงครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 อาการจึงเริ่มเห็นชัด เช่น เริ่มมีอาการบวมมากขึ้น ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร2 หรือในขั้นร้ายแรงอาจหมดสติและเสียชีวิต ส่วนสาเหตุของไตวายเรื้อรังต่างจากไตวายเฉียบพลัน เพราะส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคอายุรกรรมอื่นๆ ที่เป็นอยู่ก่อน แล้วส่งผลกระทบต่อไตในระยะยาว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด อาจเกิดจากพันธุกรรม เช่น มีถุงน้ำที่ไต หรือจากการเป็นนิ่วจนทำให้ทางเดินปัสสาวะค่อยๆ อุดตัน การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ กระทั่งเกิดจากการกินยาบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน2

ไตวายเรื้อรังมีหลายระยะแบ่งตามสมรรถภาพในการขับของเสียของไต ถึงอย่างไรหากพบว่ามีไตวายเรื้อรังแล้ว สิ่งที่ทำได้คือการดูแลชะลอไตให้เสื่อมลงช้าที่สุด แต่ในผู้ที่มีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก็จำเป็นต้องรับการฟอกล้างไตเป็นประจำหรือปลูกถ่ายไตใหม่เท่านั้น 

 

สรุปว่า... 

ไตวายเฉียบพลัน อาการเกิดขึ้นฉับพลัน รวดเร็ว รุนแรง หากรักษาต้นเหตุได้ทันท่วงที ก็หายขาดได้และเนื้อไตกลับมาทำงานได้ตามปกติ3

 

ไตวายเรื้อรัง อาการแสดงแบบค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลานาน ต้องรักษาตามระยะของโรค ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไตมีแต่เสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ และไม่สามารถฟื้นกลับมาทำงานได้ปกติเช่นเดิม3

  

อ้างอิง:

  1. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล[อินเทอร์เน็ต].พญ.ทัศน์พรรณ ศรีทองกุล.ไตวายเฉียบพลัน;c2567 [สืบค้น 1 ธ.ค.2566].เข้าถึงได้ที่: 1322_1.pdf (mahidol.ac.th) 

  1. โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์[อินเทอร์เน็ต].โรคไตเรื้อรังไม่ยากเกินเข้าใจ;c2563 c2567 [สืบค้น 1 ธ.ค.2566].เข้าถึงได้ที่: โรคไตเรื้อรัง ไม่ยากเกินเข้าใจ | โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (siphhospital.com).

  1. โรงพยาบาลไทยนครินทร์[อินเทอร์เน็ต].ความแตกต่างระหว่างโรคไตวายเรื้อรังและโรคไตวายเฉียบพลัน;c2567 [สืบค้น 1 ธ.ค.2566].เข้าถึงได้ที่: ความแตกต่างระหว่างโรคไตวายเรื้อรังและโรคไตวายเฉียบพลัน - โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (thainakarin.co.th) 

 

TH.2023.44567.NEP.1 (v1.0) ©2024Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง