อาการบวม1 เมื่อไตทำงานลดลง จึงขับน้ำ เกลือแร่ และของเสียได้ลดลง ทำให้ร่างกายบวมน้ำ เช่น บวมรอบดวงตาหลังตื่นนอน กดใบหน้าจะเป็นรอยบุ๋ม บวมที่เท้าถ้ายืนนานๆ รองเท้าจะคับ หรือกดหน้าแข้งแล้วปล่อยจะมีรอยบุ๋ม การบวมน้ำหากเป็นมากขึ้นจะทำให้ท้องบวมขึ้น มีน้ำในช่องปอดและช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้รู้สึกเหนื่อย นอนราบไม่ได้ต้องหนุนหมอนสูง แต่อาการบวมอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคตับ โรคหัวใจ ไทรอยด์ ฯลฯ
ปัสสาวะมีฟอง1 ฟองในปัสสาวะเกิดจากการมีโปรตีนอัลบูมินรั่วออกมา ภาวะปกติอาจมีฟองบ้างเล็กน้อย แต่ถ้ามีฟองมาก กดโถปัสสาวะแล้วยังไม่หมด ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคไตอักเสบ
ปัสสาวะเป็นเลือด1 มีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อหรือสีชาแก่ หรือถึงขั้นเป็นเลือดสดๆ เป็นลิ่ม บ่งชี้ว่าไตมีการอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะหรือมีนิ่ว ในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีและสูบบุหรี่เป็นประจำ มีโอกาสพบได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า ดังนั้นแม้พบเม็ดเลือดในปัสสาวะเพียงเล็กน้อย (อาจจะจากการตรวจสุขภาพประจำปี) ก็ต้องตรวจค้นอย่างละเอียดต่อไป
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน1 ไตเมื่อทำงานบกพร่อง จะเริ่มมีปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน โดยเฉพาะโรคไตในระยะเริ่มแรก แต่การปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนก็อาจมาจากโรคเบาหวานหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จึงต้องตรวจหาที่มาของสาเหตุที่แท้จริง
ปวดหลัง1 ถ้าแน่ใจว่าไม่ได้มีสาเหตุจากกระดูก กล้ามเนื้อหรือข้อต่างๆ ก็พึงต้องระวังโรคไตไว้ เช่น อาจมีไตอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงไตอุดตัน นิ่ว กรวยไตอักเสบ ซึ่งจะมีอาการปวดรุนแรง ร้าวไปหน้าขาหรืออัณฑะได้ อาการปวดจะเป็นแบบเฉียบพลัน แบบบีบๆ มีคลายบ้าง อาจพบร่วมกับมีไข้ ปัสสาวะขุ่น ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
ความดันโลหิตสูง1 โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี อาจเป็นสัญญาณโรคไตซ่อนอยู่ โดยทั่วไปจะพบความดันโลหิตสูงในคนอายุเกิน 35-60 ปี ถ้าไม่ได้อยู่ในช่วงอายุนี้ต้องหาสาเหตุแฝงที่ทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีหลายโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคไตอักเสบ ไตวาย เส้นเลือดไปเลี้ยงไตตีบ เมื่อได้รับการรักษาความดันโลหิตจะลดลงได้ แต่ถ้าละเลยก็จะทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ ความดันโลหิตจึงเป็นทั้งสาเหตุและผลจากโรคไต
คลำพบก้อนบริเวณไต1 อาจมีถุงน้ำหรือเนื้องอกเกิดขึ้นที่ไต ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกรรมพันธุ์
ภาวะซีดหรือโลหิตจาง1 โรคไตเรื้อรังทำให้ซีดหรือโลหิตจางลง เพราะขาดฮอร์โมนอีริโทรพอยอิตินที่ถูกสร้างจากเนื้อไต แล้วไปช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง ถ้าไตเสื่อมลงก็จะสร้างเม็ดเลือดแดงได้ลดลง จึงทำให้โลหิตจาง เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น
อาการเมื่อการทำงานของไตเสื่อมไปมากแล้ว มักจะรู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ผิวแห้ง คัน กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเป็นตะคริว มึนศีรษะ ความจำลดลง1 ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วนไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้
อาการต่างๆ เหล่านี้ชวนให้คุณสังเกตตนเอง แม้ว่าวันนี้จะมั่นใจว่าไม่มีอาการและรู้สึกว่ายังสบายดีอยู่ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าโรคไตระยะแรกๆ นั้นมักไม่แสดงอาการ ดังนั้นหากมีสัญญาณเหล่านี้จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด
เอกสารอ้างอิง:
1. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย[อินเทอร์เน็ต].คู่มือสำหรับประชาชน ทำอย่างไรไตไม่วาย; c2567[สืบค้น 29 พ.ย.2566].เข้าถึงได้ที่: 2019-03-15-021.pdf (hrh.go.th).
TH.2023.44567.NEP.1 (v1.0) ©2024Abbott
ปรึกษาด้านสุขภาพและโภชนาการกับผู้เชี่ยวชาญของเรา