Dialysis: What You Need To Know

การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการฉายแสง

Banner
Banner
Banner

Tips ดูแลตัวเองเมื่อต้องรับการฉายรังสี

การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา หรือที่เรียกกันว่าฉายแสงหรือฉายรังสีนั้น เป็นวิธีที่ใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งวิธีอื่น ๆ ทั้งการผ่าตัดและการให้เคมีบำบัด การฉายรังสีเป็นการทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะจุดไปยังอวัยวะที่เป็นมะเร็ง แต่ก็อาจกระทบกับเซลล์ปกติที่อยู่ใกล้เคียง แต่เซลล์ปกติจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ดีกว่าเซลล์มะเร็ง1 อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยการฉายรังสีก็อาจมีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยบ้าง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นกับตำแหน่งที่ฉายแสงและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ดังนั้นจึงต้องดูแลตัวเองให้ดีเพื่อให้สามารถรับการรักษาได้อย่างราบรื่น

Tips ดูแลตัวเองระหว่างที่ได้รับการฉายรังสี 1

  • พักผ่อนให้มาก เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลียในช่วงฉายรังสี จึงควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถออกกำลังกายเบา ๆ หรือทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่เหนื่อยเกินไปได้ตามปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่มีพลังงานสูงในช่วงการรักษา เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ดื่มน้ำมาก ๆ  
  • ผิวบริเวณที่ฉายรังสีจะมีความบอบบางเป็นพิเศษ อาจมีอาการแดงหรือสีผิวคล้ำได้  จึงควรทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่น ไม่ควรฟอกสบู่ในบริเวณที่ขีดเส้น เพราะเส้นจะลบเลือนไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้โลชัน น้ำหอม แป้ง หรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการประคบเย็นประคบร้อนบริเวณฉายรังสี
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด ควรสวมเสื้อผ้าหรือหมวกเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด

รับมือกับผลข้างเคียงจากการฉายรังสี 1,2

อาการที่พบมากไม่ว่าจะรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณไหนก็คือรู้สึกอ่อนเพลีย นอกจากนี้ผลข้างเคียง ส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะที่ ขึ้นกับบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี เช่น รักษามะเร็งเต้านมก็อาจมีรอยแดงหรือสีผิวคล้ำขึ้นตรงผิวหนังบริเวณหน้าอกที่ฉายรังสี มะเร็งในช่องปากจะมีอาการเจ็บปากเจ็บคอในช่วงฉายรังสี หรือผู้ที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องท้อง อาจรู้สึกปวดมวนท้อง เป็นต้น อาการเหล่านี้มักเป็นชั่วคราว และมักเริ่มในสัปดาห์ที่ 2-3 ของการฉายรังสี และอาจมีอาการต่อไปได้อีก 2-3 สัปดาห์หลังฉายรังสีครบ ส่วนน้อยมากเท่านั้นที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงภายหลังการฉายรังสี  

  • ดูแลช่องปาก จมูก หู

เมื่อได้รับการฉายรังสีอาจทำให้เกิดเยื่อบุอักเสบ มีแผลในช่องปาก ปากแห้งจึงต้องดูแลช่องปากอย่างสม่ำเสมอ มักจะดีขึ้นหลังฉายรังสีครบแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าดูแลความสะอาดไม่ดีอาจทำให้ติดเชื้อได้โดยเฉพาะเชื้อรา

  • ข้อควรปฏิบัติ
    • รักษาความสะอาดช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ แปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ ใช้แปรงสีฟันอ่อนนุ่ม ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ ลดการสะสมของแบคทีเรีย 
    • ทำความสะอาดฟันปลอมทุกครั้งที่ทำความสะอาดช่องปาก หากมีการอักเสบในช่องปากควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟันปลอม
    • ใช้ไหมขัดฟันได้ในคนที่เคยใช้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เคยไม่ควรเริ่มใช้ในระหว่างรักษาด้วยการฉายรังสี
    • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ 4-6 ครั้งต่อวัน หรือใช้เบคกิ้งโซดาครึ่งช้อนชาผสมเกลือครึ่งช้อนชาละลายในน้ำ 2 แก้ว อม กลั้วให้ทั่วช่องปากอย่างน้อย 15-30 วินาทีทั้งก่อน-หลังอาหาร เลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
    • ใช้ลิปมันทาริมฝีปากได้ แต่ควรเว้นระยะอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการฉายรังสี
    • จิบน้ำบ่อย ๆ วันละ 6-8 แก้ว และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว ควรนำขวดน้ำติดตัวไปด้วยเสมอ อาจใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก หรือใช้เครื่องพ่นไอน้ำ (Humidifier) 
    • หากมีอาการเจ็บปวดในช่องปาก ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
    • ผู้ที่รับการฉายรังสีบริเวณจมูก หากมีอาการคัดจมูก ช่องจมูกแห้งหรือมีเลือดออกเล็กน้อย ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือพ่นจมูกด้วยผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
    • ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณหู หากมีอาการบวมของเนื้อเยื่อรอบ ๆ และเจ็บในช่องหู หลีกเลี่ยงการแคะหู และควรพบแพทย์
    • ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณใกล้ตา ทำให้ตาแห้ง เยื่อบุตาอักเสบ ระคายเคือง ห้ามขยี้ ให้ล้างตาด้วยน้ำต้มสุกและหยอดยาตามแพทย์สั่ง
    • เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนอาจเกิดขึ้นได้ ควรพักใช้เสียงเพื่อลดการกระตุ้นการใช้เส้นเสียง
  • การดูแลผิวหนัง

โดยทั่วไปจะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่รับรังสีประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังเริ่มฉาย

รังสี ผิวจะมีสีแดง เข้มคล้ำขึ้น แห้งและคันร่วมด้วย ในกรณีถ้ามีผื่น ตุ่ม ควรพบแพทย์เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อ  ผิวหนังที่เปลี่ยนไปจะเริ่มดีขึ้นหลังจากครบการฉายรังสีแล้ว 3-4 สัปดาห์ นอกจากนี้อาจมีผมหลุดร่วงได้ในบริเวณที่ได้รับรังสีและมักจะงอกคืนมาในเวลา 2-4 เดือนหลังการฉายรังสี

  • ข้อควรปฏิบัติ
    • ทำความสะอาดบริเวณที่ฉายรังสีด้วยน้ำเปล่าหรือใช้สบู่อ่อนและซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาดที่อ่อนนุ่ม
    • ใส่เสื้อผ้าหลวม ใส่สบายเพื่อลดการระคายเคืองผิว
    • เลี่ยงการขัดถูหรือปิดพลาสเตอร์บริเวณที่ฉายรังสี
    • ใช้โลชันหรือผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวที่เป็น water-based lotion หรือ cream ที่ปราศจากน้ำหอม แอลกอฮอล์ Petroleum Jelly และ Alpha Hydroxy Acid (AHA) วันละ 2 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นฉายรังสี 
    • เลี่ยงการใช้ make up น้ำหอมและแป้งบริเวณที่รับรังสี
    • เลี่ยงการโกนหนวดระหว่างรับการฉายรังสี หากจำเป็นควรใช้เครื่องโกนเพื่อเลี่ยงการใช้มีดโกนที่อาจเกิดบาดแผลได้
    • ถ้ามีอาการคันควรปรึกษาแพทย์ว่าเกิดการติดเชื้อหรือไม่ / มีอาการปวด รับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่ง
  • ดูแลด้านอาหาร

การได้รับการฉายรังสีส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย  ในผู้ที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องปาก

และลำคอก็มักจะเจ็บช่องปาก กลืนลำบาก ปากแห้ง น้ำลายเหนียวข้น การรับรสเปลี่ยนไป ทำให้รับประทานได้น้อย อาจทำให้ขาดสารอาหารได้ ดังนั้นเพื่อดูแลสุขภาพองค์รวมจึงต้องให้ความสำคัญกับอาหารในระหว่างรักษาด้วยการฉายรังสี

  • ข้อควรปฏิบัติ
    • รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่ให้พลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ 
    • เน้นอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ อาหารทะเล เต้าหู้ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการโปรตีนเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูสภาพ
    • แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อเหมาะกับผู้ที่เบื่ออาหารและอิ่มเร็ว ให้ได้รับอาหารมากขึ้น อาจเพิ่มอาหารว่างเพื่อให้ร่างกายได้พลังงานมากขึ้น
    • หากมีอาการคลื่นไส้ ควรรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เคี้ยวช้า ๆ ให้ละเอียด 
    • หากอยากอาหารลดลง ควรเลือกรับประทานอาหารที่ชอบบ้าง และเคลื่อนไหวร่างกายมีกิจกรรมเบา ๆ จะช่วยเพิ่มความอยากอาหาร
    • หากเจ็บในช่องปาก ลำคอ กลืนลำบาก อาจเปลี่ยนเป็นอาหารนิ่มลื่น เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำผลไม้ปั่น โยเกิร์ต มันบด ฯลฯ ช่วยให้รับประทานง่ายขึ้น ลดการระคายเคือง ควรเลี่ยงอาหารรสจัด แห้ง แข็ง กรอบ 
    • หากมีสภาวะทางร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากการฉายรังสี ทำให้รับประทานอาหารได้ไม่เหมือนเดิม สามารถใช้อาหารทางการแพทย์ทานเสริม เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับพลังงานและโปรตีนที่เพียงพอ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย และเตรียมความพร้อมสำหรับการนัดฉายรังสีในรอบถัดไป

ทั้งนี้ในผู้ที่มีความอยากอาหารลดลง เจ็บช่องปากและคอ มีปัญหาในการกลืน รับประทานน้อยแต่อิ่มเร็ว ในขณะที่ร่างกายต้องการพลังงานและโปรตีนสูง รวมทั้งมีอาการอักเสบต่าง ๆ อาจเลือกเสริมด้วยอาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสารอาหารครบถ้วนและหลากหลาย รวมทั้งโปรตีน พลังงานและโอเมก้า 3 ที่มีกรดไขมันอีพีเอ (EPA) สูงที่มีส่วนช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ลดการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน รับประทานง่าย ช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดสารอาหาร ช่วยฟื้นความอ่อนเพลียจากการรักษาและเสริมเติมเต็มสารอาหารส่วนที่อาจขาดไปจากการรับประทานอาหารตามปกติ เป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยพร้อมต่อการฉายรังสีได้ตลอดแผนการรักษา

เอกสารอ้างอิง:
1 การฉายรังสีสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/NzRj1
2 คู่มือปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี บริเวณศีรษะ หู คอ จมูก ช่องปากและลำคอ [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/6NsrR

TH.2024.52178.PRO.1 (v1.0) © 2024

*ร่วมกับการรับประทานอาหารหลักให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อาหารทางการแพทย์ ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

Related Articles