Dialysis: What You Need To Know

เป็นมะเร็งควรกินอาหารอย่างไร

Banner
Banner
Banner

เอาชนะโรคมะเร็ง...ต้องกินอะไร? 

หากจะพูดว่า “อาหารมีความสำคัญมากต่อการรักษามะเร็ง” ก็คงไม่ผิด เพราะการที่ได้รับสารอาหารครบถ้วนมีโภชนาการที่ดีอยู่เสมอตลอดช่วงตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-หลังการรักษา ก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะจะช่วยให้ฟื้นตัวได้ดี ลดผลข้างเคียง ลดภาวะแทรกซ้อน ได้ผลการรักษาที่ดี รับการรักษาได้ตลอดรอดฝั่ง แถมมีโอกาสสู้ชนะมะเร็งได้  

แต่ในความเป็นจริงมีปัจจัยมากมายที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งรับประทานอาหารได้น้อยลง แม้จะเป็นอาหารจานโปรดก็ตาม  เนื่องมาจากสภาวะของโรคและผลกระทบจากการรักษา ทำให้ความอยากอาหารลดลง รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เจ็บปาก การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนแปลงไป ระบบการเผาผลาญและระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ฯลฯ เมื่อรับประทานได้น้อยจึงส่งผลได้รับสารอาหารและพลังงานน้อยลงตามไปด้วย ทำให้การฟื้นตัว ผลการรักษา และผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งแย่ลง ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากถึง 80% มีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะทุพโภชนาการ ส่วนใหญ่พบมากในผู้ป่วยมะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งตับและมะเร็งปอด เป็นต้น และผู้ป่วยมะเร็งมักจะเสียชีวิตจากภาวะขาดสารอาหารถึง 20%

สัญญาณเตือนภาวะขาดสารอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง2 

  • น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • เบื่ออาหาร
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียบ่อย
  • เป็นแผลแล้วหายช้า
  • รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย
  • ข้อเท้า ขา ท้องบวม
  • ป่วยบ่อย

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อร่างกายขาดสารอาหาร2

  • น้ำหนักและกล้ามเนื้อลดลง
  • ระดับความเครียดสูงขึ้น
  • มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ
  • มีความเสี่ยงกระดูกหักมากขึ้น
  • เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการรักษามะเร็งมากขึ้น
  • ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง
  • เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลบ่อยและต้องอยู่นานขึ้น
  • เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
  • ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงมากขึ้น

ตามปกติแล้วเมื่อร่างกายได้รับปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ไม่เพียงพอโดยเฉพาะโปรตีนและพลังงาน กล้ามเนื้อจะถูกสลายไปใช้เป็นพลังงานแทน และหากยังขาดโปรตีนติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเริ่มรู้สึกอ่อนแรง ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในขณะที่เซลล์มะเร็งก็ก่อสารอักเสบในร่างกายและระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น น้ำหนักตัวและมวลกล้ามเนื้อลดลงจนซูบผอม ในที่สุดจะเข้าสู่ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cancer Cachexia) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญต่อคุณภาพชีวิต ส่งผลต่อการตอบสนองการรักษา เกิดโรคแทรกซ้อน และไม่สามารถทนต่อการรักษาได้จนจบ ดังนั้นอาหารคือพื้นฐานสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสู้กับโรคได้ 

กินให้ครบ เพื่อสู้กับโรคมะเร็ง

 หลักโภชนบำบัดที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งก็คือ รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ น้ำ แต่ต้องเน้นอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูงมากขึ้นกว่าปกติ4,5

โปรตีน  ช่วยซ่อมแซมร่างกาย และเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานที่แข็งแรง ถ้าได้โปรตีนไม่เพียงพอกล้ามเนื้อจะถูกสลายใช้เป็นพลังงาน  การฟื้นตัวนานขึ้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แหล่งโปรตีนที่ดี คือเนื้อสัตว์เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็น เลือกที่ไม่ติดหนังและไม่ติดมัน เช่น เนื้ออกไก่ สันในหมู เลี่ยงเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป ส่วนเนื้อปลาถือเป็นโปรตีนคุณภาพสูงย่อยง่าย  ไข่  ไข่ขาว ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำและถั่วต่าง ๆ  เป็นต้น

ไขมัน เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ปกป้องเนื้อเยื่อของร่างกายและช่วยขนส่งวิตามินบางชนิดผ่านทางกระแสเลือด ไขมันที่ดีต่อสุขภาพคือไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันทานตะวัน เป็นต้น ปลาทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อาหารประเภทถั่ว เช่น อัลมอนด์ อะโวคาโด เม็ดมะม่วงหิมพานต์  เมล็ดดอกทานตะวัน เป็นต้น เลี่ยงไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ เนย ชีส ฯลฯ เพราะมีโคเลสเตอรอลสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ  แหล่งของคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ อาหารประเภทแป้ง ข้าว น้ำตาล ธัญพืช เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ฯลฯ ผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตทั้ง 3 มื้อ หากเบื่อข้าวอาจทดแทนด้วยขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ซุปข้น แครกเกอร์สลับกัน นอกจากนี้คาร์โบไฮเดตรยังมีในผัก ผลไม้ต่าง ๆ อีกด้วย ควรเลือกรับประทานผัก ผลไม้ที่หลากสีสัน เพราะมีสารพฤกษเคมี (Phytonutrients) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เลือกผลไม้หวานน้อยและให้กากใยสูง เช่น ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง ฯลฯ

น้ำ มีความสำคัญมาก เพราะเซลล์ทั้งหมดในร่างกายต้องการน้ำในการทำงาน น้ำเป็นส่วนประกอบของเลือด และขับของเสียออกจากร่างกาย ในแต่ละวันควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้ว นับรวมอาหารที่เป็นของเหลว เช่น ซุป น้ำแกง นม เครื่องดื่มต่าง ๆ ด้วย แต่ในผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการท้องเสีย อาเจียน อาจทำให้ขาดน้ำได้ จึงต้องเพิ่มการดื่มน้ำให้มากขึ้น

วิตามินและแร่ธาตุ ตามปกติหากรับประทานอาหารได้อย่างสมดุลมพลังงานและโปรตีนเพียงพอ ก็มักจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุมากมาย แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเพราะส่วนใหญ่รับประทานได้น้อย ถ้าผู้ป่วยกลัวขาดสารอาหารแล้วต้องการเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารของคุณก่อน เพราะวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิดอาจเป็นอันตรายหากได้รับในปริมาณมาก หรืออาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี

อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนคือเสริมด้วยอาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่จะช่วยเสริมเติมเต็มสารอาหาร ช่วยฟื้นฟูพลังงาน เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มน้ำหนักตัว ทั้งยังเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ6 เนื่องจากเป็นสูตรอาหารที่ให้พลังงานสูงและมีสารอาหารสำคัญสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เช่น โปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ ใยอาหาร โอเมก้า 3 ที่มีกรดไขมันอีพีเอ (EPA) สูง ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ลดการอักเสบในร่างกาย คงสภาพมวลกล้ามเนื้อและน้ำหนักตัว เมื่อร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งได้รับสารอาหารพอเพียงก็จะสามารถช่วยฟื้นฟูได้เร็ว การรักษาก็จะได้ผลดีและต่อเนื่อง จึงสามารถสู้กับโรคมะเร็งได้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง:
1 Why Nutrition is Important: Adult Patient with Cancer [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/pQg4G
2 A Consumer Guide for Cancer Patients. Caring For Your Nutrition: Get the Facts [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/uD3hP
3 Ni J, et al.Cancer Manag Res. 2020;12:5597-5605.
4 Benefits of good nutrition during cancer treatment [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/wlIhq
แก้ปัญหาทางโภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งในช่วงการบำบัดรักษา [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/mqO8b
6 Payette H, et al. J Am Diet Assoc. 2002;102(8):1088-95.

TH.2024.52178.PRO.1 (v1.0) © 2024
*ร่วมกับการรับประทานอาหารหลักให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อาหารทางการแพทย์ ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

Related Articles