Dialysis: What You Need To Know

เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายผู้ป่วยมะเร็ง

Banner
Banner
Banner

เคล็ด (ไม่) ลับ...วิธีต้านเม็ดเลือดขาวต่ำ เสริมภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็ง?

การรักษาโรคมะเร็งทั้งด้วยยาเคมีบำบัดและการฉายแสงหรือฉายรังสีนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีภาวะเม็ดเลือดต่ำลงจนแพทย์มักเตือนให้ระวังการติดเชื้อ นั่นเป็นเพราะว่าทั้งการให้เคมีบำบัดและการฉายรังสีมีผลกดการทำงานของไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดทำให้ผลิตลดลง ค่าเลือดเหล่านี้จึงต่ำลง นำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงต่าง ๆ   

  ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ถือเป็นภาวะที่พบได้มากที่สุดในผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด แต่ขึ้นกับสภาพร่างกาย ภาวะโภชนาการเดิมของผู้ป่วย และสูตรยาเคมีบำบัดที่ได้รับ การมีเม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เพิ่มโอกาสการติดเชื้อมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ป่วยยังอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำและภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย ภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำจะส่งผลให้มีภาวะซีดหรือภาวะเลือดจาง ทำให้เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ส่วนภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สังเกตได้ว่าฟกช้ำง่าย ถ้าค่าเกล็ดเลือดต่ำมากก็เสี่ยงเลือดออกในอวัยวะภายในได้ นอกจากนี้ภาวะทุพโภชนาการก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ภาวะเม็ดเลือดต่ำได้เช่นกัน เนื่องจากทั้งตัวโรคและผลข้างเคียงต่าง ๆ ของการรักษา มักทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง จึงได้รับพลังงาน โปรตีนและสารอาหารอื่น ๆ รวมถึงวิตามินเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจึงมีภูมิต้านทานลดลง น้ำหนักตัวลดลงและอาจไม่สามารถทนต่อการรักษาได้ ในบางกรณีแพทย์อาจต้องพิจารณาหยุดการรักษาชั่วคราวเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายตามมา ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่องและอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลงได้ 1

เคล็ด (ไม่) ลับ เสริมสร้างเม็ดเลือด เพิ่มภูมิต้านทาน

เมื่อมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ จะนำมาซึ่งการติดเชื้อได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เจ็บป่วย ไอ จาม เจ็บคอ ดูแลสุขอนามัยส่วนตัวให้สะอาดอยู่เสมอ พยายามอย่าให้เกิดแผลที่ร่างกาย อยู่ให้ห่างไกลสถานที่ที่คนมากและแออัด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย นอกจากนี้ควรใส่ใจโภชนาการที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานดังนี้1

  • เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะการขาดโปรตีนมีผลให้ไขกระดูกสร้างเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดได้ลดลง โปรตีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคได้ช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น  โดยโปรตีนจากสัตว์เป็นโปรตีนคุณภาพดี มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนมชนิดไขมันต่ำ และอาจเสริมโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เป็นต้น
  • อย่าให้ขาดโฟเลต การขาดโฟเลตอาจมาจากภาวะทุพโภชนาการหรือยาเคมีบำบัดบางชนิด ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูง ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์และตับ
  • เติมวิตามินบี 12 ถ้าขาดอาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้จากการสร้างลดลง  วิตามินบี 12 มีมากในเนื้อสัตว์ นม ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่
  • โอเมก้า 3 ถือเป็นโภชนาการเสริมภูมิคุ้มกัน (Immunonutrition) ที่ช่วยควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบของร่างกายในผู้ป่วยมะเร็ง2 กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFAs) ที่จำเป็นต่อร่างกาย ประกอบด้วยกรดไขมันหลัก ๆ คืออีพีเอและดีเอชเอ ที่พบได้ในอาหารทะเล เช่น ปลาทะเลน้ำลึก กรดไขมันโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยในการทำงานของเซลล์ในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย   

นอกจากนี้การเสริมด้วยอาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีพลังงาน โปรตีนและกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีอีพีเอสูง ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกเนื่องจากมีส่วนช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดและภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้อีกทางหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง:
1 อาหารบำรุงเลือดในผู้ป่วยรักษามะเร็ง [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/lVedy
2 Jiuwei C, et al. Precis Nutr 2023;2(1):e00031.
3 What are omega-3 fatty acids and what do they do? [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/rQSU9

TH.2024.52178.PRO.1 (v1.0) © 2024
*ร่วมกับการรับประทานอาหารหลักให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาหารทางการแพทย์ ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

Related Articles